วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

การจัดการเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมติ

การจัดการเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมติ  (Role Playing)

                  วราภรณ์  ศุนาลัย  (2536, หน้า 35 อ้างอิงใน กรมวิชาการ, 2543, หน้า 18)  กล่าวว่า การสอนแบบแสดงบทบาทสมมติ  เป็นวิธีสอนที่ผู้สอนกำหนดหัวข้อเรื่อง  ปัญหาต่างๆ  หรือสร้างสถานการณ์ขึ้นมาให้คล้ายกับสภาพความเป็นจริง  แล้วให้ผู้เรียนได้เตรียมการล่วงหน้า  แล้วจึงแสดงบทบาทตามที่สมมติขึ้นมาอันเป็นแนวทางที่สามารถนำไปแก้ปัญหาต่างๆ  ที่อาจจะประสบในชีวิตประจำวัน  นอกจากนี้ผู้เรียนก็สามารถแสดงบทบาทในชั้นเรียน  โดยไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า

                  วารี  ถิรจิตร  (2534, หน้า 186  อ้างอิงใน กรมวิชาการ, 2543, หน้า 18)  กล่าวว่า บทบาทสมมติ   หมายถึง  การสมมติบทบาทและจัดสถานการณ์ให้ผู้แสดงบทบาทได้แสดงความรู้สึกนึกคิดอารมณ์จากสถานการณ์ที่สมมติขึ้นซึ่งอาจจะเตรียมมาก่อน  ภายหลังของการแสดงบทบาทสมมติ  จะต้องมีการอภิปรายเกี่ยวกับการแสดงบทบาทความรู้สึกนึกคิดของผู้แสดง  ผู้ดูและมีการสรุปผลของการแสดงบทบาทนั้นด้วย
                  การแสดงบทบาทสมมติเป็นการฝึกให้ผู้แสดงได้ประสบกับสถานการณ์จริงในสภาพของการสมมติ   ขึ้นมา  ทั้งนี้เพื่อฝึกให้ผู้เรียนได้ทดลองและเรียนรู้ที่จะปรับพฤติกรรมของตนอย่างมีประสิทธิภาพในสภาวะต่างๆ
                  การสอนโดยการแสดงบทบาทสมมติ  (Role Playing)  คือ  เทคนิคการสอนที่ให้ผู้เรียนแสดงบทบาทในสถานการณ์ที่สมมติขึ้น  นั่นคือแสดงบทบาทที่กำหนดให้  การแสดงบทบาทสมมติมี  2  ลักษณะ  คือ
                  1.  ผู้แสดงบทบาทสมมติจะต้องแสดงบทบาทของคนอื่น โดยละทิ้งแบบแผนพฤติกรรมของตนเองหรือการเปลี่ยนบทบาทซึ่งกันและกันกับเพื่อนหรือเป็นบุคคลสมมติ  
                  2.  ผู้แสดงบทบาทจะยังคงรักษาบทบาทและแบบแผนพฤติกรรมของตน  แต่ปฏิบัติอยู่ในสถานการณ์ที่อาจพบในอนาคต  บทบาทสมมติประเภทนี้เป็นประโยชน์ต่อการฝึกฝนทักษะเฉพาะ

                  บทบาทสมมติที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนอยู่ในปัจจุบันนี้  แยกได้เป็น  3  วิธี  ดังนี้
                  1.  การแสดงบทแสดงละคร  วิธีนี้ผู้ที่จะแสดงต้องฝึกซ้อมแสดงท่าทางตามบทที่กำหนดขึ้นไว้แล้ว  เช่น  การแสดงละครเรื่องที่เกี่ยวกับบทเรียนในหนังสือเรียนภาษาไทย  ผู้แสดงบทบาทสมมติแบบละคร  จะต้องพูดตามบทบาทที่ผู้เขียนกำหนดขึ้น
                  2.  การแสดงบทบาทสมมติแบบไม่มีบทเตรียมไว้  ผู้แสดงต้องไม่ฝึกซ้อมมาก่อนเรียนไปถึงเรื่องใดตอนใดก็ออกมาแสดงได้ทันที  โดยแสดงไปตามความรู้สึกนึกคิดของตนเอง  เช่น  แสดงเป็นบุคคลต่างๆ  ในชุมนุมชน  เป็นหมอ  เป็นทหาร  เป็นตำรวจ  นักเรียนได้คิด  ได้พูดและแสดงพฤติกรรมจากความรู้สึกนึกคิดของเขาเอง
                  3.  การใช้บทบาทสมมติแบบเตรียมบทไว้พร้อม  ผู้สอนได้เตรียมบทมาไว้ล้วงหน้าบอกความคิด  รวบยอดให้ผู้แสดงทราบ  ผู้แสดงอาจต้องแสดงตามบทบาทบ้าง  คิดบทบาทขึ้นแสดงเองตามความพอใจบ้าง   แต่ต้องตรงกับเนื้อเรื่องที่กำหนดให้

                  ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
การจัดการเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมติ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.  ขั้นเตรียมการใช้บทบาทสมมติ  แบ่งเป็น  2  ขั้นตอน  ดังนี้
                  1.1  ขั้นการกำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะ  ผู้สอนควรศึกษาและทำความเข้าใจพื้นฐานเสียก่อนว่า  ต้องการให้ผู้เรียนได้รับความรู้อะไรบ้างจากการแสดงและกรรมวิธีในการใช้บทบาทสมมตินำไปเพื่อต้องการให้เกิดอะไรขึ้น
                  1.2  ขั้นสร้างสถานการณ์และบทบาทสมมติ  เมื่อผู้สอนได้ศึกษาและเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์เฉพาะในการเตรียมใช้บทบาทสมมติแล้ว  ก็จำเป็นต้องสร้างสถานการณ์และบทบาทสมมติให้สอดคล้องต้องกันกับวัตถุประสงค์ดังกล่าว  ซึ่งจำเป็นต้องเล็งเห็นถึงวัยของผู้เรียน  เนื้อหาสาระ  ปัญหา  ความเป็นจริง  ข้อโต้แข้ง  ตลอดจนอุปสรรคที่จำเป็นต่างๆ  ที่ผู้สอนต้องให้ผู้เรียนได้รู้จักคิด  ปฏิบัติและแก้ไขด้วยตนเอง
2.  ขั้นแสดงบทบาทสมมติ  แบ่งเป็น  7  ขั้นตอน  ดังนี้
                  2.1  การนำเข้าสู่สถานการณ์  ผู้สอนเตรียมเรื่องหรือสถานการณ์ให้ผู้เรียน แล้วนำเรื่องราวมาเล่าให้ผู้เรียนฟัง  เพื่อเป็นการเร้าความสนใจ เป็นแรงจูงใจให้ผู้เรียนอยากเรียนและ   อยากติดตาม  และควรให้ผู้เรียนได้เล็งเห็นประโยชน์ที่จะได้รับ จากการที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงบทบาทสมมตินั้นๆ    
                  2.2  การกำหนดตัวผู้แสดง  การเลือกผู้แสดงขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการสอนและ    การแสดงสำหรับการเลือกตัวผู้แสดง  ควรให้ผู้เรียนอาสาสมัครมาแสดงบทบาทด้วยความเต็มใจ
                  2.3  การจัดสถานที่  ผู้สอนควรให้ผู้เรียนได้ร่วมมือในการจัดสถานที่สำหรับการแสดงบทบาทสมมติ  ซึ่งควรจัดและดัดแปลงให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่องที่กำหนดไว้
                  2.4  การกำหนดตัวผู้สังเกตการณ์ โดยผู้สอนอาจจะกำหนดผู้เรียนกลุ่มหนึ่งให้เป็น          ผู้สังเกตการณ์ในการแสดงบทบาท  โดยฝึกให้เป็นคนช่างสังเกตและรวบรวมข้อมูลต่างๆ  เพื่อนำมาวิเคราะห์  อภิปราย  และแก้ปัญหาร่วมกัน  หลังจากสิ้นสุดการแสดงบทบาทสมมติแล้ว
                  2.5  การเตรียมพร้อมก่อนการแสดง  วิธีเตรียมความพร้อมนั้นผู้สอนต้องเป็นผู้ช่วยเหลือไม่ให้ผู้เรียนต้องมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแสดงให้มากเกินไป  ควรชี้แจงให้ผู้แสดงทราบว่า  การแสดงก็เหมือนกับการพูด  คุย  และเล่นกันธรรมดา  เพียงแต่ต้องแสดงบทบาทต่างๆ  ตามที่ได้กำหนดไว้เท่านั้น
                  2.6  การลงมือแสดง  เมื่อผู้แสดงพร้อมแล้วก็เริ่มลงมือแสดงได้เลย  ควรเปิดโอกาสให้   ผู้แสดงได้ใช้ความสามารถของตนได้เต็มที่  ถ้าเกิดปัญหาขึ้นในขณะที่แสดง  ผู้สอนควรมีส่วนร่วมในการแก้ไขสถานการณ์  เพื่อให้การแสดงเป็นไปตามธรรมชาติและราบรื่นต่อไป
                  2.7  การตัดบท  ถ้าบังเอิญการแสดงของผู้เรียนยืดเยื้อและใช้เวลานานเกินความจำเป็นและผู้สอนที่ความคิดเห็นว่าได้ข้อมูลในการแสดงพอสมควรแล้ว  ก็สามารถขอให้ยุติการแสดง   เพื่อจะได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์และอภิปรายและแก้ไขปัญหาต่างๆ  ต่อไป
3.  ขั้นวิเคราะห์และอภิปรายผล  การนำข้อมูลที่ได้จากการแสดงมาวิเคราะห์และอภิปราย  ผู้สอนและผู้เรียนต้องร่วมมือกัน  แต่ควรอภิปรายในรูปแบบของความมีเหตุมีผลเฉพาะการแสดงออกของผู้แสดงทางพฤติกรรมเท่านั้น  แต่จะไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับตัวผู้แสดง
4.  ขั้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสรุป  เมื่อได้วิเคราะห์และอภิปรายผลของการแสดงแล้ว  ผู้สอนจะเป็นผู้เร้าและจูงใจให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ  เพื่อให้มีแนวคิดกว้างขวางขึ้น  โดยให้ข้อคิดว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้หรือประสบพบเห็นนั้นๆ  จะเกี่ยวข้องกับความเป็น จริงทั้งสิ้น  แล้วให้ผู้เรียนช่วยกันให้แนวมโนทัศน์และช่วยกันสรุปประเด็นให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการแสดงบทบาทสมมติที่กำหนดไว้            






                                                 



ที่มา

ครูดำ. https://www.gotoknow.org/posts/506108 . [Online]. เข้าถึงเมื่อวันที่
         14 สิงหาคม 2561.










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การจัดการเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมติ

การจัดการเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมติ   (Role Playing)                   วราภรณ์  ศุนาลัย  ( 2536, หน้า 35 อ้างอิงใน กรมวิชาการ , 2543 ข ...