วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

วิธีการจัดการเรียนรู้และเทคนิคจัดการเรียนรู้


รูปแบบจัดการเรียนรู้และเทคนิคจัดการเรียนรู้


การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะ
         1.การจัดการเรียนรู้แบบบรรยาย (Lecture Method)
         2.การจัดการเรียนรู้แบบอภิปราย (Discussion Method)
         3.การจัดการเรียนรู้โดยใช้การอภิปรายกลุ่มย่อย (Small Group Discussion)
         4.การจัดการเรียนรู้แบบสาธิต (Demonstration Method)
         5.การจัดการเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมุติ (Role Method)
         6.การจัดการเรียนรู้โดยใช้การแสดงละคร (Dramatization)
         7.การจัดการเรียนรู้แบบสถานการณ์จำลอง (Simulation)
         8. การจัดการเรียนรู้โดยใช้เกม (Game)
         9.การจัดการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการ (Process)
        10.การจัดการเรียนรู้โดยกระบวนการสุ่ม (Group Process)
        11.การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning)
        12.การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค TGT (Team Games Tournaments)
        13.การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค STAD (Student Teams Achievement Divisions)
        14.การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค JIGSAW
        15.การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ (Integration)
        16.การจัดการเรียนรู้แบบ STORYLINE
        17.การจัดการเรียนรู้แบบมุ่งประสบการณ์ภาษา (Concentrated Language Encounters)
        18.การจัดการเรียนรู้แบบชี้แนะ (Direct Instruction)
        19.การจัดการเรียนรู้แบบ SQ 3R

การเรียนรู้โดยแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
        20.การจัดการเรียนรู้แบบเอกัตภาพ (Individualized Instruction)
        21.การจัดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียนรู้ (Learning Center)
        22.การจัดการเรียนรู้โดยใช้บทเรียนโปรแกรม(Programmed Instruction)
        23.การจัดการเรียนรู้โดยใช้บทเรียนโมดูล (Instructional Module)
        24.การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสอน (Instructional Package)
        25.การจัดการเรียนรู้โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)
        26.การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน (Project Method)
        27.การจัดการเรียนรู้โดยการไปทัศนศึกษา (Field Trip)
        28.การจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชนและธรรมชาติ

การเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยม
        29.การจัดการเรียนรู้แบบไตรสิกขา
        30.การจัดการเรียนรู้โดยสร้างศรัทธาและโยนิโสมนสิการ
        31.การจัดการเรียนรู้โดยใช้ค่านิยมให้กระจ่าง
        32.การจัดการเรียนรู้แบบเบญจขันธ์
        33.การจัดการเรียนรู้ตามขั้นทั้งสี่ของอริยสัจ
        34.การจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสร้างนิสัย
        35.การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจริยธรรม
        36.การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ
        37.การจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการเผชิญสถานการณ์
        38.การจัดการเรียนรู้โดยใช้นิทาน
        39.การจัดการเรียนรู้แบบซักค้าน

การเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด
40.การจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย (Inductive Method)
41.การจัดการเรียนรู้แบบนิรนัย (Deductive Method)
42.การจัดการเรียนรู้แบบค้นพบ (Discovery Method)
43.การจัดการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Method)
44.การจัดการเรียนรู้แบบทดลอง (Experimental Method)
45.การจัดการเรียนรู้แบบแก้ปัญหา (Problem Solving Method)
46.การจัดการเรียนรู้แบบแก้ปัญหาโดยใช้สาระสนเทศ (Information Problem-Solving Approach)
47.การจัดการเรียนรู้แบบใช้คำถาม (Question Method)
48.การจัดการเรียนรู้แบบ KWL (Know-Want-Learned)
49.การจัดการเรียนรู้แบบกรณีศึกษา (Case Study Method)
50.การจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ (Creative Teaching)
         51.การจัดการเรียนรู้แบบระดมสมอง (Brainstroming Method)
         52.การจัดการเรียนรู้แบบซินเนคติกส์ (Synectics Method)
         53.การจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ความรู้ (Constructivism)
         54.การจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน (Inquiry Method)
         55.การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้เป็นกลุ่ม (Groub Investigation Method)
         56.การจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT
         57.การจัดการเรียนรู้แบบจัดกรอบมโนทัศน์ (Concept Mapping Techinique)
         58.การจัดการเรียนรู้โดยใช้ผังความรู้แบบวี (Knowledge Vee Diagramming)
         59.การจัดการเรียนรู้แบบวรรณี (Wannee Teaching Model)
         60.การจัดการเรียนรู้แบบการพยากรณ์ (Forecast or Prediction Method)
         61.การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยี / สิ่งพิมพ์
         62.การจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งวิทยากรในชุมชน
         63.การจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบเรียนสำเร็จรูป
         64.การจัดการเรียนรู้โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)
         65.การจัดการเรียนรู้โดยใช้คอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย
         66.การจัดการเรียนรู้โดยใช้เว็บช่วยสอน
         67.การจัดการเรียนรู้โดยใช้เว็บเควสท
         68.การจัดการเรียนรู้โดยใช้คอมพิวเตอร์กราฟิก
         69.การจัดการเรียนรู้โดยการตัดสินใจอย่างฉลาด
         70.การจัดการเรียนรู้โดยการสร้างแผนผังความคิด
         71.การจัดการเรียนรู้แบบซิปปา
  
เทคนิคการจัดการเรียนรู้
         72.เทคนิคการต่อเรื่องราว (Jigsaw)
         73.เทคนิคคู่คิด (Think-Pair-Share)
         74.เทคนิคคู่คิดสี่สหาย (Think-Pair-Share)
         75.เทคนิคคู่ตรวจสอบ (Pair Check)
         76.เทคนิคเล่าเรื่องราว (Roundrobin)
         77.เทคนิคโต๊ะกลม (Roundtable)
         78.เทคนิคการเรียนร่วมกัน (Learning Together)
         79.เทคนิคร่วมกันคิด (Numbered Heads Together)
         80.เทคนิคกลุ่มสืบค้น (GI : Groop Investigation)
         81.เทคนิคการจัดทีมแข่งขัน (TGT : Team Games Tournament)
         82.เทคนิคแบ่งปันความสำเร็จ (STAD : Student Teams Achievement Division)
         83.เทคนิคการสัมภาษณ์ 3 ขั้นตอน (Three Step Interview)
         84.เทคนิคช่วยกันคิดช่วยการเรียน (TAI : Team Assited Individualization)
         85.เทคนิคการเรียนรู้แบบวิธีการติดต่อภาพ รูปแบบที่(Jigsaw 1)
         86.เทคนิคการเรียนรู้แบบวิธีการติดต่อภาพ รูปแบบที่2 (Jigsaw 2)
         87. เทคนิคการเรียนรู้แบบ CO-OP  CO-OP





ที่มา
สุวิทย์ มูลคำ, อรทัย มูลคำ.(2545).วิธีการจัดการเรียนรู้. วิธีการจัดการเรียนรู้:เพื่อพัฒนา
        ความรู้และทักษะ. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การพิมพ์.
ประกาศิต อานุภาพแสนยากร.(2559). เอกสารคำสอน รายวิชา การจัดการเรียนรู้
        คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ 2559.

วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Theory of Cooperative or Collaborative Learning)


ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Theory of Cooperative or Collaborative Learning)

                  ทิศนา  แขมมณี (2547 : 98-106) ได้รวบรวมทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ ไว้ดังนี้
        ก. ทฤษฎีการเรียนรู้
        การเรียนรู้แบบร่วมมือ คือการเรียนรู้เป็นกลุ่มย่อยโดยมีสมาชิกกลุ่มที่มีความสามารถแตกต่างกันประมาณ 3-6 คน ช่วยกันเรียนรู้เพื่อไปสู่เป้าหมายของกลุ่ม นักการศึกษาคนสำคัญที่เผยแพร่แนวคิดของการเรียนรู้แบบนี้คือ สลาวิน (Slavin) เดวิด จอห์นสัน (David Johnson) และรอเจอร์ จอห์นสัน (Roger Johnson) เขากล่าวว่าในการจัดการเรียนการสอนโดยทั่วไปเรามักจะไม่ให้ความสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน ส่วนใหญ่เรามักจะมุ่งไปที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน หรือระหว่างผู้เรียนกับบทเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนเป็นมิติที่มักจะถูกละเลยหรือมองข้ามไปทั้ง ๆ ที่มีผลการวิจัยชี้ชัดเจนว่า ความรู้สึกของผู้เรียนต่อตนเอง ต่อโรงเรียน ครูและเพื่อนร่วมชั้น 
        ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน มี 3 ลักษณะคือ
               1. ลักษณะแข่งขันกัน ผู้เรียนแต่ละคนจะพยายามเรียนให้ได้ดีกว่าคนอื่น เพื่อให้ได้คะแนนดี
               2. ลักษณะต่างคนต่างเรียน แต่ละคนต่างก็รับผิดชอบดูแลตนเองให้เกิดการเรียนรู้ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้อื่น
               3. ลักษณะร่วมมือกันหรือช่วยกันในการเรียนรู้ แต่ละคนต่างก็รับผิดชอบในการเรียนรู้ของตน และในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยให้สมาชิกคนอื่นเรียนรู้ด้วย
        องค์ประกอบของการเรียนรู้แบบร่วมมือ
               การเรียนรู้แบบร่วมมือไม่ได้มีความหมายเพียงว่า มีการจัดให้ผู้เรียนเข้ากลุ่มแล้วให้งานและบอกผู้เรียนให้ช่วยกันทำงานเท่านั้น การเรียนรู้จะเป็นแบบร่วมมือได้ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญครบ 5 ประการดังนี้
               1. การพึ่งพาและเกื้อกูลกัน (positive interdependence) สมาชิกกลุ่มทุกคนมีความ และความสำเร็จของกลุ่มขึ้นอยู่กับสมาชิกทุกคนในกลุ่ม ดังนั้นแต่ละคนต้องรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ของตนและในขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือสมาชิกคนอื่น ๆ ด้วย เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ช่วยให้ผู้เรียนมีการพึ่งพาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
               2. การปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด (face-to-face promotive interaction) การที่สมาชิกกลุ่มมีการพึ่งพาช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นปัจจัยที่เสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันในทางที่จะช่วยให้กลุ่มบรรลุเป้าหมาย สมาชิกกลุ่มจะห่วงใย ไว้วางใจ ช่วยเหลือกันในการทำงาน ส่งผลให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน
               3. ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ของสมาชิกแต่ละคน (individual accountability) สมาชิกทุกคนจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบและพยายามทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ ไม่มีใครที่จะได้รับประโยชน์โดยไม่ทำหน้าที่ของตน ดังนั้นกลุ่มจึงจำเป็นต้องมีระบบการตรวจสอบผลงาน ทั้งที่เป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม
               4. การใช้ทักษะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย (interpersonal and small-group skills) การเรียนรู้แบบร่วมมือจะประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยทักษะที่สำคัญหลายประการ เช่น ทักษะทางสังคม ทักษะปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทักษะการทำงานกลุ่ม ทักษะการสื่อสาร และทักษะการแก้ปัญหาขัดแย้ง รวมทั้งการเคารพ ยอมรับ และไว้วางใจกันและกัน
               5. การวิเคราะห์กระบวนการกลุ่ม (group processing) กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือจะต้องมีการวิเคราะห์กระบวนการทำงานกลุ่มเพื่อช่วยให้กลุ่มเกิดการเรียนรู้และปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น การวิเคราะห์การเรียนรู้นี้อาจทำโดยครู หรือผู้เรียน หรือทั้งสองฝ่าย การวิเคราะห์กระบวนการกลุ่มนี้เป็นยุทธวิธีหนึ่งที่ส่งเสริมให้กลุ่มตั้งใจทำงาน เพราะสามารถที่จะประเมินการคิดและพฤติกรรมของตนที่ได้ทำไป
        ผลดีของการเรียนรู้แบบร่วมมือ การเรียนรู้แบบร่วมมือส่งผลดีต่อผู้เรียนตรงกันในด้านต่าง ๆ ดังนี้
               1. มีความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายมากขึ้น (greater efforts to achieve) เป็นผลทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น และมีผลงานมากขึ้น การเรียนรู้มีความคงทนมากขึ้น
               2. มีความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนดีขึ้น (more positive relationships among students) ช่วยให้ผู้เรียนมีน้ำใจนักกีฬามากขึ้น ใส่ใจในผู้อื่นมากขึ้น เห็นคุณค่าของความแตกต่าง ความหลากหลาย การประสานสัมพันธ์และการรวมกลุ่ม
               3. มีสุขภาพจิตดีขึ้น (greater psychological health) ช่วยให้ผู้เรียนมีสุขภาพจิตดีขึ้น มีความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับตนเองและมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมและความสามารถในการเผชิญกับความเครียดและความผันแปรต่าง ๆ
        ประเภทของการเรียนรู้แบบร่วมมือ โดยทั่วไปมี 3 ประเภทคือ
               1. กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างเป็นทางการ (formal cooperative learning groups) กลุ่มประเภทนี้ครูจัดขึ้นโดยการวางแผน จัดระเบียบ กฎเกณฑ์ วิธีการและเทคนิคต่าง ๆ ให้ผู้เรียนได้ร่วมมือกันเรียนรู้สาระต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และบรรลุจุดมุ่งหมายตามที่กำหนด
               2. กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการ (informal cooperative learning groups) กลุ่มประเภทนี้คือจัดขึ้นเฉพาะกิจเป็นครั้งคราว โดยสอดแทรกอยู่ในการสอนปกติอื่น ๆ โดยเฉพาะการสอนแบบบรรยาย
               3. กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างถาวร (cooperative base groups) กลุ่มประเภทนี้เป็นกลุ่มการเรียนรู้ที่สมาชิกกลุ่มมีประสบการณ์การทำงาน สมาชิกกลุ่มมีความผูกพัน ห่วงใย ช่วยเหลือกันและกัน

         ข. การประยุกต์ใช้ทฤษฎีในการเรียนการสอน
         1. ด้านการวางแผนการจัดการเรียนการสอน
                1.1 กำหนดจุดมุ่งหมายของบทเรียนทั้งทางด้านความรู้และทักษะกระบวนการต่าง ๆ
                1.2 กำหนดขนาดของกลุ่ม กลุ่มควรมีขนาดเล็กประมาณ 3 - 6 คน
                1.3 กำหนดองค์ประกอบของกลุ่ม จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มซึ่งอาจทำโดยการสุ่มหรือการเลือกให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ โดยทั่วไปกลุ่มจะต้องประกอบไปด้วยสมาชิกที่คละกันในด้านต่าง ๆ
                1.4 กำหนดบทบาทของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและมีส่วนในการทำงานอย่างทั่วถึง ครูควรมอบหมายบทบาทหน้าที่ในการทำงานให้ทุกคน เช่น บทบาทผู้นำกลุ่ม ผู้สังเกตการณ์ เลขานุการ ผู้เสนอผลงาน ผู้ตรวจสอบผลงาน
                1.5 จัดสถานที่ให้เหมาะสมในการทำงานและมีการปฏิสัมพันธ์กัน ผู้ต้องคิดออกแบบการจัดห้องเรียนหรือสถานที่ที่ใช้ในการเรียนรู้ให้เอื้อต่อการทำงานของกลุ่ม
                1.6 จัดสาระ วัสดุ หรืองานที่จะให้ผู้เรียนทำ จัดแบ่งสาระหรืองานนั้นในลักษณะที่ให้ผู้เรียนแต่ละคนมีส่วนในการช่วยกลุ่มและพึ่งพากันในการเรียนรู้
         2. ด้านการสอน ครูควรมีการเตรียมกลุ่มเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันดังนี้
                 2.1 อธิบายชี้แจงเกี่ยวกับงานกลุ่ม อธิบายถึงจุดหมายของบทเรียน เหตุผลในการดำเนินการต่าง ๆ รายละเอียดของงานและขั้นตอนในการทำงาน
                 2.2 อธิบายเกณฑ์การประเมินผลงาน ผู้เรียนจะต้องมีความเข้าใจตรงกันว่าความสำเร็จของงานอยู่ตรงไหน งานที่คาดหวังจะมีลักษณะอย่างไร เกณฑ์ที่จะใช้ในการวัดความสำเร็จของงานคืออะไร
                 2.3 อธิบายถึงความสำคัญและวิธีการของการพึ่งพาและเกื้อกูลกัน ครูควรอธิบายกฎเกณฑ์ ระเบียบ บทบาทหน้าที่และระบบการให้รางวัลหรือประโยชน์ที่กลุ่มจะได้รับในการร่วมมือกันเรียนรู้
                 2.4 อธิบายวิธีการช่วยเหลือกันระหว่างกลุ่ม
                 2.5 อธิบายถึงความสำคัญและวิธีการในการตรวจสอบความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่แต่ละคนได้รับมอบหมาย
                 2.6 ชี้แจ้งพฤติกรรมที่คาดหวัง หากครูชี้แจงให้ผู้เรียนได้รู้อย่างชัดเจนว่าต้องการให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมอะไรบ้าง จะช่วยให้ผู้เรียนรู้ความคาดหวังที่มีต่อตนและพยายามจะแสดงพฤติกรรมนั้น
         3. ด้านการควบคุมกำกับและการช่วยเหลือกลุ่ม
                 3.1 ดูแลให้สมาชิกกลุ่มมีการปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด
                 3.2 สังเกตการณ์การทำงานร่วมกันของกลุ่ม ตรวจสอบว่าสมาชิกกลุ่มมีความเข้าใจในงานหรือบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายหรือไม่
                 3.3 เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มตามความสามารถ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงานและการทำงาน เมื่อพบว่ากลุ่มต้องการความช่วยเหลือ ครูสามารถเข้าไปชี้แจงหรือให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ
                 3.4 สรุปการเรียนรู้ คู่ควรให้กลุ่มสรุปประเด็นการเรียนรู้ที่ได้จากการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อช่วยให้การเรียนรู้มีความชัดเจนขึ้น
         4. ด้านการประเมินผลและวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้
                 4.1 ประเมินผลการเรียนรู้ คู่ควรประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ โดยใช้วิธีที่หลากหลายและควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมิน
                4.2 วิเคราะห์กระบวนการทำงานและกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ครูควรจัดให้ผู้เรียนมีเวลาในการวิเคราะห์การทำงานของกลุ่มและพฤติกรรมของสมาชิกกลุ่มให้กลุ่มมีโอกาสเรียนรู้ที่จะปรับปรุงส่วนบกพร่องของกลุ่ม


                  ณัชชากัญญ์ วิรัตนชัยวรรณ ( https://www.l3nr.org/posts/386486 ) ได้กล่าวไว้ว่า  แนวคิดของทฤษฏีนี้ คือ  การเรียนรู้เป็นกลุ่มย่อยโดยมีสมาชิกกลุ่มที่มีความสามารถแตกต่างกันประมาณ 3 – 6คน  ช่วยกันเรียนรู้เพื่อไปสู่เป้าหมายของกลุ่ม  โดยผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในลักษณะแข่งขันกัน  ต่างคนต่างเรียนและร่วมมือกันหรือช่วยกันในการเรียนรู้ นอกจากนั้นแล้วทฤษฎีการเรียนรู้ยังสามารถแบ่งได้ดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ  ทฤษฎีการเรียนรู้ที่เป็นพื้นฐาน   ทฤษฎีจากกลุ่มพฤติกรรมนิยมกลุ่มความรู้ (Cognitive)
ทฤษฎีการเรียนรู้ที่เป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีการศึกษานั้นเป็นทฤษฎีที่ได้จาก 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มพฤติกรรม (Behaviorism)
2. กลุ่มความรู้ (Cognitive)
                  กลุ่มพฤติกรรมนิยม  เจ้าของทฤษฎีนี้คือ พอฟลอบ (Pavlov) ทฤษฎีการวางเงื่อนไข (Conditioning Theory) กล่าวไว้ว่า ปฏิกริยาตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่งของร่างกายของคนไม่ได้มาจากสิ่งเร้าอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว สิ่งเร้านั้นก็อาจจะทำให้เกิดการตอบสนองเช่นนั้นได้ ถ้าหากมีการวางเงื่อนไขที่ถูกต้องเหมาะสม
                  กลุ่มความรู้ (Cognitive)  นักจิตวิทยากลุ่มนี้เน้นความสำคัญของส่วนรวม ดังนั้นแนวคิดของการสอนซึ่งมุ่งให้ผู้เรียนมองเห็นส่วนรวมก่อน โดยเน้นเรียนจากประสบการณ์ (Perceptual experience)ทฤษฎีทางจิตวิทยาของกลุ่มนี้ซึ่งมีชื่อว่า Cognitive Field Theory  ธรรมชาติของการเรียนรู้ มี 4 ขั้นตอน คือ
                  1. ความต้องการของผู้เรียน (Want) คือ ผู้เรียนอยากทราบอะไร เมื่อผู้เรียนมีความต้องการอยากรู้อยากเห็นในสิ่งใดก็ตาม จะเป็นสิ่งที่ยั่วยุให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้
                  2. สิ่งเร้าที่น่าสนใจ (Stimulus) ก่อนที่จะเรียนรู้ได้ จะต้องมีสิ่งเร้าที่น่าสนใจ และน่าสัมผัสสำหรับมนุษย์ ทำให้มนุษย์ดิ้นรนขวนขวาย และใฝ่ใจที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่น่าสนใจนั้น ๆ
                  3. การตอบสนอง (Response) เมื่อมีสิ่งเร้าที่น่าสนใจและน่าสัมผัส มนุษย์จะทำการสัมผัสโดยใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น ตาดู หูฟัง ลิ้นชิม จมูกดม ผิวหนังสัมผัส และสัมผัสด้วยใจ เป็นต้น ทำให้มีการแปลความหมายจากการสัมผัสสิ่งเร้า เป็นการรับรู้ จำได้ ประสานความรู้เข้าด้วยกัน มีการเปรียบเทียบ และคิดอย่างมีเหตุผล
                  4. การได้รับรางวัล (Reward) ภายหลังจากการตอบสนอง มนุษย์อาจเกิดความพึงพอใจ ซึ่งเป็นกำไรชีวิตอย่างหนึ่ง จะได้นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น การได้เรียนรู้ ในวิชาชีพชั้นสูง จนสามารถออกไปประกอบอาชีพชั้นสูง (Professional) ได้ นอกจากจะได้รับรางวัลทางเศรษฐกิจเป็นเงินตราแล้ว ยังจะได้รับเกียรติยศจากสังคมเป็นศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจทางสังคมได้ประการหนึ่งด้วย
                  ลำดับขั้นของการเรียนรู้    ในกระบวนการเรียนรู้ของคนเรานั้น จะประกอบด้วยลำดับขั้นตอนพื้นฐานที่สำคัญ 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ
                  1. ประสบการณ์ (experiences) ในบุคคลปกติทุกคนจะมีประสาทรับรู้อยู่ด้วยกันทั้งนั้น ส่วนใหญ่ที่เป็นที่เข้าใจก็คือ ประสาทสัมผัสทั้งห้า ซึ่งได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง ประสาทรับรู้เหล่านี้จะเป็นเสมือนช่องประตูที่จะให้บุคคลได้รับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ
                  2. ความเข้าใจ (understanding) ก็คือ ตีความหมายหรือสร้างมโนมติ (concept) ในประสบการณ์นั้น กระบวนการนี้เกิดขึ้นในสมองหรือจิตของบุคคล
                  3. ความนึกคิด (thinking) ความนึกคิดถือว่าเป็นขั้นสุดท้ายของการเรียนรู้


                  สยุมพร ศรีมุงคุณ (https://www.gotoknow.org/posts/341272) ได้กล่าวถึงทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือไว้ดังนี้  ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Theory of Cooperative or Collaborative Learning)  แนวคิดของทฤษฏีนี้ คือ  การเรียนรู้เป็นกลุ่มย่อยโดยสมาชิกกลุ่มที่มีความสามารถแตกต่างกันประมาณ 3 – 6 คน  ช่วยกันเรียนรู้เพื่อไปสู่เป้าหมายของกลุ่ม  โดยผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในลักษณะแข่งขันกัน  ต่างคนต่างเรียนและร่วมมือกันหรือช่วยกันในการเรียนรู้  การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จะเน้นให้ผู้เรียนช่วยกันในการเรียนรู้ โดยมีกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนมีการพึ่งพาอาศัยกันในการเรียนรู้  มีการปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด  มีการสัมพันธ์กัน  มีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม  มีการวิเคราะห์กระบวนการของกลุ่ม  และมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบงานร่วมกัน ส่วนการประเมินผลการเรียนรู้ควรมีการประเมินทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ โดยวิธีการที่ หลากหลายและควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมิน  และครูควรจัดให้ผู้เรียนมีเวลาในการวิเคราะห์การทำงานกลุ่มและพฤติกรรมของสมาชิกกลุ่ม  เพื่อให้กลุ่มมีโอกาสที่จะปรับปรุงส่วนบกพร่องของกลุ่มเดียว


สรุป
               แนวคิดของทฤษฎีนี้คือ การเรียนรู้เป็นกลุ่มย่อยโดยสมาชิกกลุ่มที่มีความสามารถแตกต่างกันประมาณ 3 ถึง 6 คน ช่วยการเรียนรู้เพื่อไปสู่เป้าหมายของกลุ่ม โดยผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในลักษณะแข่งขันกัน ต่างคนต่างเรียน และร่วมมือกันหรือช่วยกันในการเรียนรู้
การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎีนี้ จะเน้นให้ผู้เรียนช่วยกันในการเรียนรู้ โดยมีกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนมีการพึ่งพาอาศัยกันในการเรียนรู้ มีการปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด มีการสัมพันธ์กัน มีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม มีการวิเคราะห์กระบวนการของกลุ่ม และมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน
           การประเมินผลการเรียนรู้ ควรมีการประเมินทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ โดยวิธีการที่หลากหลายและควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมิน และคู่ควรจัดให้ผู้เรียนมีเวลาในการวิเคราะห์การทำงานกลุ่มและพฤติกรรมของสมาชิกกลุ่ม เพื่อให้กลุ่มมีโอกาสที่จะปรับปรุงส่วนบกพร่องของกลุ่ม



ที่มา
ทิศนา  แขมมณี. (2547). ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้
         ที่มีประสิทธิภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ณัชชากัญญ์ วิรัตนชัยวรรณ. https://www.l3nr.org/posts/386486. [Online]. 
         เข้าถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2561.
สยุมพร  ศรีมุงคุณ. https://www.gotoknow.org/posts/341272. [Online]. 
         เข้าถึงเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561.

ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Constructionism)


ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Constructionism)

        ทิศนา  แขมมณี (2547 : 47-48) ได้รวบรวมทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ไว้ดังนี้
        ก. ทฤษฎีการเรียนรู้
              ทฤษฎี “Constructionism” เป็นทฤษฎีที่มีพื้นฐานมากจากทฤษีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ (Piaget) เช่นเดียวกับทฤษฎีการสร้างความรู้ (Constructivism) ผู้พัฒนาทฤษฎีนี้คือ ศาสตราจารย์ ซีมัวร์ เพเพอร์ท (Seymour Papert) แห่งสถาบันเทคโนโลยีเมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) เพเพอร์ทได้มีโอกาสร่วมงานกับเพียเจต์และได้พัฒนาทฤษฎีนี้ขึ้นมาใช้ในวงการศึกษา
              แนวความคิดของทฤษฎีนี้คือ (สำนักงานโครงการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, 2542: 1-2) การเรียนรู้ที่ดีเกิดจากการสร้างพลังความร็ในตนเองและด้วยตนเองของผู้เรียน หากผู้เรียนมีโอกาสได้สร้างความคิดและนำความคิดของตนเอง ไปสร้างสรรค์ชิ้นงานโดยอาศัยสื่อและเทคโนโลยีที่เหมาะสม จะทำให้เห็นความคิดนั้นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และเมื่อผู้เรียนสร้างสิ่งใดสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาในโลก ก็หมายถึงการสร้างความรู้ขึ้นในตนเองนั่นเอง ความรู้ที่ผู้เรียนสร้างขึ้นในตนเองนี้ จะมีความหมายต่อผู้เรียน จะอยู่คงทน ผู้เรียนจะไม่ลืมง่าย และจะสามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจความคิดของตนได้ดี นอกจากนั้นความรู้ที่สร้างขึ้นเองนี้ยังเป็นฐานให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ใหม่ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
        ข. การประยุกต์ใช้ทฤษฎีในการเรียนการสอน
              เนื่องจากทฤษฎี “Constructionism”และ “Constructivism” มีรากฐานมาจากทฤษฎีเดียวกัน แนวคิดหลักจึงเหมือนกัน จะมีความแตกต่างไปบ้างก็ตรงรูปแบบการปฏิบัติซึ่ง “Constructionism” จะมีเอกลักษณ์ของตนในด้านการใช้สื่อ เทคโนโลยี วัสดุ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมในการให้ผู้เรียนสร้างสาระการเรียนรู้และผลงานต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพเพอร์ทและคณะวิจัยแห่ง M.I.T.  (บุปผชาติ ทัฬหิกรณ์ ในวชิราวุธวิทยาลัย, 2541:1-7) ได้ออกแบบวัสดุและการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี รวมทั้งได้นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นเครื่องมือในการให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสร้างความรู้ในการเรียนวิชาต่าง ๆ โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพเพอร์ทและคณะได้ออกแบบสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์โลโก้ขึ้น เพื่อให้เด็กใช้คณิตศาสตร์ในการสร้างรูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว ดนตรี เกม ฯลฯ และได้พัฒนา “LEGO TC Logo” ซึ่งเชื่อมโยงภาษาโลโก้กับเลโก้ ซึ่งเป็นของเล่นที่มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนที่สามารถนำมาต่อกันเป็นรูปต่าง ๆ ได้ ช่วยให้ผู้เรียนสามารถควบคุมเลโก้ของเล่นในคอมพิวเตอร์ให้เคลื่อนไหว เดิน ฉายแสง หรือตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ได้ตามต้องการ เป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้สร้างความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ด้วยตนเองไปพร้อม ๆ กับการฝึกคิด การฝึกแก้ปัญหา และฝึกความอดทน นอกจากนั้นผู้เรียนยังเรียนรู้การบูรณาการความรู้หลาย ๆ ด้าน ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และศิลปะศาสตร์ ให้เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์ผลงาน นอกจากนั้นเพเพอร์ทและคณะยังได้พัฒนาโปรแกรม “micro-worlds” “robot design” รวมทั้งสถานการณ์จำลองด้วยคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ขึ้นใช้ในการสอนอีกมาก
                อย่างไรก็ตามสำหรับผู้เรียนที่ยังไม่มีสื่อดังกล่าวใช้ เพเพอร์ทกล่าวว่าสื่อธรรมชาติและวัสดุทางศิลปะส่วนมากสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุในการสร้างความรู้ได้ดีเช่นกัน เช่น กระดาษ กระดาษแข็ง ดินเหนียว ไม้ โลหะ พลาสติก สบู่ และของเหลือใช้ต่าง ๆ
               แม้ว่าผู้เรียนจะมีวัสดุที่เหมาะสมสำหรับการสร้างความรู้ได้ดีแล้วก็ตาม แต่ก็อาจไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้ที่ดี สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญมากอีกประการหนึ่งก็คือ บรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งควรมีส่วนประกอบ 3 ประการคือ
                1) เป็นบรรยากาศที่มีทางเลือกหลากหลาย เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกตามความสนใจ เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความชอบและความสนใจไม่เหมือนกัน การมีทางเลือกที่หลากหลายหรือเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทำในสิ่งที่สนใจจะทำให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจในการคิด การทำ และการเรียนรู้ต่อไป
                2) เป็นสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างกันอันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความรู้ เช่น มีกลุ่มคนที่มีวัน ความถนัด ความสามารถ และประสบการณ์แตกต่างกัน ซึ่งจะเอื้อให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การสร้างสรรค์ผลงานและความรู้ รวมทั้งการพัฒนาทักษะทางสังคมด้วย
                3) เป็นบรรยากาศที่มีความเป็นมิตร เป็นกันเอง บรรยากาศที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย สบายใจ จะเอื้อให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีความสุข
การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สร้างความรู้ด้วยตนเองนี้จะประสบผลสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด มักขึ้นกับบทบาทครู ครูจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนให้สอดคล้องกับแนวคิด ครูจะต้องทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน ให้คำปรึกษาชี้แนะแก่นักเรียน เกื้อหนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ ในด้านการประเมินการเรียนรู้นั้นสามารถใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น การประเมินตนเอง การประเมินโดยครูและเพื่อน การสังเกต การประเมินโดยใช้แฟ้มผลงาน เป็นต้น

          อุไรวรรณ  ศรีธิวงค์ (2559) ได้กล่าวไว้ดังนี้ ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ได้รับการพัฒนาโดย Seymour Papert แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massacchusetts Institute of Technology) โดยมีรากฐานมาจากทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองของ Piaget  แนวคิดของทฤษฎีนี้ เชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีเกิดจากการสร้างพลังความรู้ในตนเองด้วยตนเองของผู้เรียน หากผู้เรียนได้รับโอกาสสร้างความคิดและนำความคิดของตนเองไปสร้างสรรค์ชิ้นงานโดยอาศัยสื่อและเทคโนโลยีที่เหมาะสม จะทำให้ผู้เรียนได้เห็นความคิดของตนเองเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และเมื่อผู้เรียนสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาในโลก  หมายถึงผู้เรียนได้มีการสร้างความรู้ขึ้น และเป็นความรู้ที่มีความหมายต่อผู้เรียน เป็นความรู้ที่คงทน สามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจความคิดของตนได้ดี นอกจากนั้น ความรู้ที่สร้างขึ้นด้วยตนเองนี้เป็นฐานให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในลักษณะวงจรเสริมแรงภายในตัวเองของผู้เรียน
           การให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสร้างชิ้นงานนั้น ผู้สอนจำเป็นต้องเตรียมเครื่องมือสร้างที่เหมาะสม เพื่อผู้เรียนจะสามารถนำเครื่องมือนั้น ๆ ไปใช้สร้างความรู้หรือชิ้นงานที่มีความหมายต่อตนเอง ถึงแม้ว่าผู้เรียนจะได้รับเครื่องมือชนิดเดียวกันแต่ชิ้นงานแตกต่างกันตามจินตนาการ ความคิด และความสามารถในการแก้ปัญหาของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป เป็นการส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์  อย่างไรก็ตาม การสร้างชิ้นงานของผู้เรียนจะนำไปสู่การสร้างความรู้ได้นั้น ยังขึ้นอยู่กับบรรยากาศและสภาพแวดล้อมหรือบริบททางสังคม เช่น การให้ผู้เรียนได้มีทางเลือกหลายทางเลือก ทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสร้างชิ้นงานที่ตนเองสนใจ ส่งผลให้ผู้เรียนเต็มใจที่จะสร้างชิ้นงานให้สำเร็จแม้ต้องเผชิญกับปัญหาหรือความยากลำบากมากมาย ความหลากหลายในกลุ่มผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์ การช่วยเหลือ การแบ่งปัน และการเรียนรู้จากกันและกัน และห้องเรียนที่มีบรรยากาศความเป็นกันเอง ช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกผ่อนคลาย อบอุ่น และปลอดภัย ทั้งนี้เนื่องจากผู้เรียนสามารถสอบถามหรือปรึกษาเพื่อนและครูได้ตลอดเวลา

                  สยุมพร ศรีมุงคุณ (https://www.gotoknow.org/posts/341272) ได้กล่าวถึงทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงานไว้ดังนี้  ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Constructionism) แนวคิดของทฤษฏีนี้ คือ  การเรียนรู้ที่ดีเกิดจากการสร้างพลังความรู้ในตนเอง  หากผู้เรียนมีโอกาสได้สร้างความคิดและนำความคิดของตนเองไปสร้างสรรค์ชิ้นงานโดยอาศัยสื่อและเทคโนโลยีที่เหมาะสม  จะทำให้ความคิดเห็นนั้นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น    หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้ คือ  ครูจะต้องทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้แก่ผู้เรียน  ให้คำปรึกษาชี้แนะแก่ผู้เรียน  เกื้อหนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ  ในการประเมินผลนั้นต้องมีการประเมินทั้งทางด้านผลงานและกระบวนการซึ่งสามารถใช้วิธีการที่หลากหลาย  เช่น  การประเมินตนเอง  การประเมินโดยครูและเพื่อน  การสังเกต  การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงาน


ที่มา
ทิศนา  แขมมณี. (2547). ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้
            ที่มีประสิทธิภาพพิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์
             มหาวิทยาลัย.
อุไรวรรณ  ศรีธิวงค์. (2559). http://kruoiysmarteng.blogspot.com/2016/08/  
             constructionism-seymour-papert.html. [Online]. เข้าถึงเมื่อวันที่
             22 กรกฎาคม 2561.
สยุมพร ศรีมุงคุณ. (https://www.gotoknow.org/posts/341272). เข้าถึงเมื่อวันที่
              22 กรกฎาคม 2561.

การจัดการเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมติ

การจัดการเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมติ   (Role Playing)                   วราภรณ์  ศุนาลัย  ( 2536, หน้า 35 อ้างอิงใน กรมวิชาการ , 2543 ข ...